ประเด็นร้อน
บิ๊ก ACT หนุนจัดซื้อจัดจ้างใหม่
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 13,2017
- - สำนักข่าวฐานเศรษฐกิจ - -
"ประมนต์ สุธีวงศ์" หนุน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ ช่วยลดคอร์รัปชัน ตัดตอนการจัดซื้อพิเศษผ่านมติ ครม. เชื่อขั้นตอนปฏิบัติไม่กระทบ รสก.-อปท.
จากการที่รัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถปฏิบัติตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันในเชิงพาณิชย์ ต้องไปกำหนดระเบียบขึ้นมาที่พิสูจน์ได้ว่าต้องแข่งขันกับคนอื่นอย่างไร และการจะขอยกเว้นแนวปฏิบัติต้องผ่านการวินิจฉัยเห็นชอบของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยมีเงื่อนไขประกอบ
"ตอนที่ พ.ร.บ.นี้ออกใหม่มีข้อถกเถียงมากหนึ่งในมาตรากำหนดกันว่าสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขันในเชิงพาณิชย์ต้องไปกำหนดเป้าหมายว่าเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างบริษัทที่ต้องแข่งขันกับเอกชน เช่น ปตท.ก็ต้องระบุว่ามีเรื่องใดบ้างที่เข้าข่ายๆ กำหนดเป็นระเบียบว่าจะเป็นอย่างไร แข่งขันกับคนอื่นอย่างไร โดยคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างจะเป็นผู้วินิจฉัย และในระหว่างนี้ก็มีมาตราเฉพาะกาลอยู่แล้วที่ให้เวลารัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงาน อปท. ที่ต้องการ "ข้อยกเว้น" ให้ใช้ระเบียบเดิมไปก่อน จึงไม่น่าจะทำให้งานชะลอ"
การจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีเดิม จะเพียง 1 ใน 3 ของหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของรัฐแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะครอบคลุมทั้งหมดทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของท้องถิ่น, รัฐ วิสาหกิจ, มหาวิทยาลัย, องค์กรอิสระ และองค์การมหาชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาจะมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มที่ไม่เคยอยู่กระบวนการนี้มาก่อนโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ และ อปท. เหมือนว่าไปมัดมือเขา เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปสร้างความเข้าใจ
โดยเม็ดเงินจัดซื้อจัดจ้างตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีไม่ต่ำกว่าปีละ 6-7 แสนล้านบาท ในอดีตพูดกันว่ามีเงินตกหล่นสูญถึง 30% แต่คิดว่าน่าจะ 10% หรือประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท แต่หลังจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างมีผลบังคับ เชื่อว่าปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์ /ใต้โต๊ะจะลดน้อยลง เพราะสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลการจะขอใช้วิธีการซื้อพิเศษเช่น "มติครม." เหมือนแต่เดิมจะทำไม่ได้อีกต่อไป ต้องผ่านตามขั้นตอนของพ.ร.บ. และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปขอสภาผู้แทนฯ ทำให้การทุจริตโดยนโยบายยากขึ้น
"ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีช่องโหว่ง่ายๆ คือเมื่อรัฐบาลไหน ที่จะเปลี่ยนระเบียบนี้ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษมีมากก็จะไปใช้ "มติของครม." เพราะได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องใช้มาตรการของระเบียบนี้"
พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีการปรับ ปรุง 2-3 เรื่องหลักที่ว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดต่าง ๆที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งจะเข้าไปกำหนดมาตรการและตรวจสอบ คณะกรรมการจะรับผิดชอบแตกต่างกันไปและถ่วงอำนาจหน่วยงานราชการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง สาระสำคัญที่แตกต่างจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมากสุดคือข้อกำหนดที่ว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอยู่ในมาตราที่เรียกว่าข้อตกลงคุณธรรม (integrity pact) กำหนดให้มีการลงนาม 3 ฝ่าย ได้แก่ผู้เข้าประมูลหน่วยงานราชการที่เป็นเจ้าของโครงการและผู้แทนภาคเอกชน
"ภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นผู้แทนต้องรับรู้ตั้งแต่การร่างทีโออาร์เป็นอย่างไร 1.มีการล็อกสเปก หรือไม่ และ 2.การตั้งราคากลางมีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะการจะเอื้อเรียกรับผลประโยชน์ ทำได้โดยง่ายๆ ใน 2 วิธีนี้ ถือเป็นมาตรฐานหลักที่เข้าไปเพิ่มใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯได้มอบหมายจากภาครัฐให้เข้าไปทำเรื่องรณรงค์สรรหาภาคเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าเป็นตัวแทนสังเกตการณ์โครงการรัฐที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 50โครงการ (อาทิ รถไฟรางคู่ ของคมนาคมรฟม. ก่อสร้างถนนฯลฯ) มูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท ขณะนี้ได้ตัวแทนแล้วประมาณ 200 คนยังต้องเพิ่มอีกมีหลายร้อยรายส่วนใหญ่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาชีพต่างๆ"
อย่างไรก็ดี การจัดซื้อจัดจ้างกรณีของจีทูจี การซื้ออาวุธของกองทัพหรือการจัดซื้อที่เป็นความลับทางราชการ ยังอยู่ภายใต้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีระเบียบแยกต่างหาก แต่มีความเข้มข้นขึ้นจากการดูแลของคณะกรรมการในชุดต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่มีมากกว่าอดีต
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน